วางแผนการเงินเตรียมรับภาวะวิกฤต

คุณวางแผนการเงินไว้รับมือกับ
ภาวะวิกฤตได้ดีพอหรือเปล่า
 
ภาวะวิกฤตทางการเงินที่อาจจะเกิดขึ้น อาจเป็นสิ่งที่เราเคยทราบมาก่อนจากการเกิดกับคนอื่น หรือ ไม่เคยพบเห็นมาก่อนเลยก็ได้
 
ผลกระทบที่เกิดขึ้น อาจจะรุนแรงแต่เกิดในระยะสั้น หรือ ไม่รุนแรงมากแต่ถ้ากระทบระยะยาวก็เป็นเรื่องใหญ่ได้เช่นกัน
 
ตัวอย่างที่เคยเห็นกัน ก็เช่น คนในครอบครัวป่วยกระทันหัน ต้องใช้เงินก้อนจำนวนมากรักษา ถ้ามีประกันสุขภาพ ประกันก็จะช่วยแบ่งเบาได้ แต่ถ้าไม่มีก็อาจจะต้องดึงเงินสำรองมาใช้ หรือ เกิดหนี้สินก้อนโต เป็นภาระผ่อนชำระระยะยาว หรือหากป่วยเรื้อรัง อาจจะต้องลาออกจากงานมาดูแล เกิดปัญหาทางการเงินเรื่องการเกษียณก่อนวัย เพราะมีเหตุจำเป็นได้
 
 
ขอยกตัวอย่างที่เป็นภาวะวิกฤตสัก 2 เหตุการณ์ที่นานๆ ในชั่วชีวิตคนจะเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่ง ให้เห็นภาพเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความตระหนักในภาวะวิกฤต ที่เราไม่อาจคาดเดาได้อีก
 
ยังจำกันได้หรือไม่ วิกฤตน้ำท่วมปี 2554 ซึ่งภาวะน้ำท่วม หากเกิดขึ้นในพื้นที่ที่เกิดเป็นประจำทุกปี ก็จะมีแผนรับมือเตรียมไว้ พอบรรเทา แต่ปี 2554 เกิดการท่วมในหลายพื้นที่ ที่ไม่เคยท่วมมาก่อนเพราะการบริหารจัดการผิดพลาด น้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนในเมือง โดยไม่ได้เตรียมการรับมือทัน เกิดความเสียหายจำนวนมาก
 
 
และเหตุการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นอยู่คือ โรคระบาด covid-19 ที่เกิดขึ้นมายาวนานถึง 2 ปีแล้ว ผลกระทบมีสารพัดรูปแบบ ทั้งการสูญเสียชีวิตของหัวหน้าครอบครัว เศรษฐกิจหยุดชะงัก ผู้คนตกงาน โดยที่การฟื้นตัวสำหรับแต่ละคนก็มีโอกาสที่แตกต่างกัน
 
 
วิกฤตที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น มีทั้งวิกฤตที่เกิดขึ้นส่วนบุคคล และวิกฤตที่เกิดขึ้นในภาพรวมทั่วประเทศ หรือ ทั่วโลก วิกฤต บางครั้งเกิดจากความประมาท บางครั้งเกิดจากโชคชะตา
 
ถึงแม้เราจะควบคุมวิกฤตไม่ให้เกิดขึ้นไม่ได้ แต่อย่างน้อยการเตรียมตัววางแผนรับมือไว้ล่วงหน้า ก็เป็นสิ่งที่เราควบคุมได้ เมื่อเกิดวิกฤตแล้ว จะช่วยผ่อนหนักกลายเป็นเบา การวางแผนที่ดีจะช่วยให้การฟื้นตัว กลับสู่ภาวะปกติ ทำได้ง่ายและเร็วยิ่งขึ้น ทำใหัเราไม่ต้องจมอยู่กับปัญหาในระยะเวลายาวนาน
 
มาเริ่มสำรวจแผนของเรากันดีกว่า ว่าเราได้เตรียมตัวไว้ได้ดีในระดับไหน
ในภาวะสถานะการเงินปกติคุณรู้เรื่องเหล่านี้หรือไม่
 
1. รู้งบประมาณ หรือ budget ของค่าใช้จ่ายแต่ละตัว จริงๆไหม
 
มีการวางแผนงบประมาณการใช้จ่ายไว้ล่วงหน้า ว่าค่าใช้จ่ายแค่ละตัวมีประมาณเดือนละเท่าไหร่ หรือ ปีละเท่าไหร่
 
อะไรเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือน ที่ต้องจ่ายทุกเดือน อะไรเป็นค่าใช้จ่ายที่มีทุกปี อยู่ในช่วงเดือนไหนบ้าง
ถ้าคุณบอกว่าคุณรู้ตัวเลขเหล่านี้ ลองตอบคำถามนี้ดู คุณใชัเวลาคิดกี่นาที หรือ ไม่เคยรู้เลย
 
• เดือนนี้คุณใช้จ่ายเงินไปเท่าไหร่
• เดือนนี้คุณออมเงินได้เท่าไหร่
• ปีนี้คุณลงทุนเป็นเงินเท่าไหร่
• 3 เดือนที่ผ่านมา คุณใช้เงินไปกับค่าอาหารนอกบ้านเท่าไหร่
• เดือนนี้คุณใช้เงินไปกับเรื่องไร้สาระเท่าไหร่
• คุณมีเงินสำรองฉุกเฉินจำนวนเท่าไหร่
 
ถ้าคุณตอบได้ทันที แสดงว่าคุณเป็นคนรู้ budget ตัวเอง แต่ถ้าไม่ใช่ แนะนำให้เริ่มจด หรือใช้ application เข้าช่วย เดี๋ยวนี้มีหลายแอพสะดวกมาก เช่น Metang, Money Lover, Spendee เลือกใช้ตามที่เราถนัด สำคัญที่เราจดได้ไหม ทำใจได้แค่ไหน หากเริ่มต้นที่จะจด ถ้าจดแล้วทำให้ปวดใจ ก็เดาได้เลย ว่าคุณใช้เงินไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไหร่ การสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของคุณ ทนจดต่อไปอีกสักนิด แล้วจะค่อยๆดีขึ้นเอง เพราะพฤติกรรมการใช้เงินของคุณก็จะดีขึ้น เมื่อคุณรู้ว่าคุณใช้เงินไปกับเรื่องอะไรบ้าง
 
วิธีที่ช่วยให้การใช้จ่ายมีเหตุผลมากขึ้น คือจัดอันดับความสุขในการใช้เงิน ถ้าเรื่องไหนจ่ายไปแล้ว ไม่ได้ impact เท่าไหร่ ก็ตัดลดลงไป จ่ายแต่เรื่องที่รู้สึกว่ามีผลกระทบต่อความสุขของเรามากกว่า แค่นี้ก็ลดรายจ่ายกับเรื่องไม่เป็นเรื่องได้เยอะเลย
 
การรู้ งบประมาณ (budget) ค่าใช้จ่าย สำคัญเป็นอย่างแรกของการวางแผนการเงินเลยทีเดียว
 
 
2. มี Plan B-Z เป็นแผนสำรองเงินฉุกเฉิน
 
คนจำนวนมากที่ยังไม่มีเงินสำรองฉุกเฉิน คือ มีเงินแค่ใช้จ่ายสภาพคล่อง และก็ไปอยู่ในสินทรัพย์ส่วนตัวเลย เช่น บ้าน รถยนต์ คอนโด หรือ สินทรัพย์ลงทุนที่สภาพคล่องต่ำ หรือ มูลค่าผันผวน หากขายคืนกระทันหันอาจขาดทุนได้
 
เงินสำรองสภาพคล่อง จะต้องอยู่ในรูปแบบที่หยิบใช้ได้ภายใน 1-2 วัน และรักษามูลค่าในตัวเอง ซึ่งโดยทั่วไป เงินสำรองสภาพคล่อง ควรมีไว้ 3-6 เดือน เผื่อเกิดเหตุขาดรายได้ หรือ มีรายจ่ายฉุกเฉินพิเศษ ซึ่งเงินก้อนนี้ จะเรียกว่า Plan A
แล้ว Plan B-Z หล่ะ คือ อะไร
 
ความหมายของการมี Plan B-Z คือ การมีแผนสำรองเงินหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ที่อาจเกิดได้ยากกว่า แต่ก็ต้องมีแผนรองรับ เช่น ตกงานมากกว่า 1 ปี เพราะตัวเองป่วย หรือ คนในบ้านป่วย หรือ บริษัทปิดกิจการกระทันหัน จังหวะหางานใหม่ยังยากอยู่ หรือ เช่นในเวลานี้คือ เกิดโรคระบาดยาวนานมา 2 ปี เกิดผลกระทบทางการเงินหลายด้าน หรือ เกิดเหตุทุพพลภาพชั่วคราว ต้องพักฟื้นหลายเดือน หรือ ต้องใช้เงินก้อนซ่อมแซมที่อยู่อาศัยกระทันหัน ฯลฯ
 
การเตรียมแผนรองรับเรื่องที่มีโอกาสเกิดยากกว่า แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่เกิดได้ อาจจะใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย มาช่วยในเรื่องของการเตรียมเงิน อาจจะเป็น ประกันชีวิต ประกันสุขภาพโอนย้ายความเสี่ยง การฝากเงินแบบ Fix มีเงื่อนไขการถอนตามระยะเวลาที่กำหนด (ได้ดอกเบี้ยมากกว่าออมทรัพย์) ลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน (money market fund) จะได้ผลตอบแทนที่มากกว่าการฝากออมทรัพย์กับธนาคารอีกนิดหน่อย
 
สำคัญตรงที่ เราจะขาดวินัยทางการเงิน เงินสำรองที่เตรียมไว้รองรับ Plan B-Z มักจะถูกนำออกมาใช้ เพราะเราคิดว่า มันอาจจะไม่เกิดเหตุฉุกเฉินก็ได้ อยากเอาเงินมาทำประโยชน์ที่มองเห็นในปัจจุบันมากกว่า พอเกิดเหตุขึ้นมาจริงๆ ก็ไม่มีทางถอยต่อได้อีก
 
จำนวนเท่าไหร่ที่เหมาะสมสำหรับกองเงินสำรอง Plan B-Z เงินจำนวนที่เพียงพอที่จะผ่อนคลายสถานการณ์ได้ คือ 12 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน คือ มีเวลาปรับตัวหากเกิดเหตุขาดรายได้กระทันหัน 12 เดือน หรือ 1 ปีนั่นเอง
 
หลักการเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน สรุปง่ายๆว่า ต้องออมเงินให้ได้ ไม่ใช้เงินเกินรายได้ และ นำมาเก็บออมให้ได้ตามจำนวนที่สามารถสร้างความปลอดภัยให้เรา โดยเลือกเครื่องมือเก็บเงินที่เหมาะสม มีสภาพคล่องปานกลาง และความเสี่ยงต่ำ รักษาเงินต้นได้
 
 
3. การจัดการหนี้สิน
 
หนี้สินเป็นพันธนาการทางการเงินอย่างหนึ่ง ที่เป็นความเสี่ยงหากไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดได้
หนี้สิน ไม่ใช่เรื่องแปลก ใครๆก็มีหนี้ นั่นแปลว่า คนทุกคนก็ลงเรือลำเดียวกัน คือ มีปัญหาคล้ายๆกัน คือ ต้องบริหารจัดการหนี้ ให้สามารถผ่อนชำระตรงเวลาได้ หรือ จัดการปลดภาระหนี้สินให้เร็วที่สุด ดังคำที่ว่า การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ เพราะรายได้ทุกบาทที่หามาได้ จะเป็นของเราจริงๆ ไม่ใช่ต้องแบ่งไปใช้หนี้ก่อน
 
หนี้สินมีทั้งหนี้ดี และ หนี้ไม่ดี หนี้ดีคือหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ ความก้าวหน้า เช่น กู้ยืมเงินมาทำกิจการ หนี้ที่ซื้อทรัพย์สินมาใช้ตามความจำเป็นของครอบครัว เช่น บ้าน รถยนต์
 
ส่วนหนี้ไม่ดีคือ หนี้ที่เกินตัว หนี้เพื่อการบริโภค เช่น บ้านหลังใหญ่เกินไป รถหรูราคาแพง ถึงแม้เราจะสามารถผ่อนชำระได้ ก็ควรคำนึงถึงโอกาสทางการเงินการลงทุน ที่ต้องสูญเสียไปในการสร้างความมั่งคั่งในอนาคต เพราะนำมาบริโภคใช้ในปัจจุบันหมด หนี้ที่บัตรเครดิตที่ใช้จ่ายเพื่อการบริโภคแล้ว ไม่สามารถชำระได้ตรงตามเวลา หนี้ที่เกิดจากการไปท่องเที่ยวต่างประเทศ บางคนไปเที่ยวแค่ไม่กี่วัน แต่ต้องกลับมาผ่อนชำระหนี้สินก้อนนั้นอีกหลายปีเลยทีเดียว
 
การจัดการหนี้ที่ดี คือ ไม่ผ่อนชำระหนี้ระยะยาว เกิน 30-40% ของรายได้ อย่าลืมว่า นอกจากเงินใช้จ่ายแล้ว เรายังต้องเหลือเงินไว้ออม ไว้ลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่งอีกด้วย
 
ไม่ควรมั่นใจในรายได้มากเกินไปว่าจะไม่ตกงาน หรือประสบปัญหาขาดรายได้ จากสารพัดสาเหตุ หากมีหนี้ ก็ต้องวางแผนการใช้หนี้ให้หมดตามกำหนด แต่ก็ต้องไม่เบียดเบียน ความสุขในการใช้ชีวิตด้วยเช่นกัน หากยังรักษาไฟในการทำงานหาเงินไว้ได้ ยังไงเสีย ก็สามารถใช้หนี้ให้หมดได้
 
หากเมื่อเจอภาวะวิกฤต รายได้ลดหดหาย สิ่งแรกที่ต้องทำคือ เจรจากับเจ้าหนี้ ขอลดยอดการชำระหนี้ เพื่อให้คงเหลือสภาพคล่องในการดำรงชีวิตเพื่อหาทางฟื้นฟูกลับมาได้ใหม่ แต่หากจำเป็น ต้องตัดใจขายทรัพย์สิน ควรรีบดำเนินการแต่เนิ่นๆ อย่าปล่อยให้เกิดเป็นปัญหาเรื้อรังจนเกิดความเสียหายใหญ่โต
 
ตัวอย่างเช่น รถยนต์หากผ่อนไม่ไหว ให้รีบนำไปขาย แล้วปิดหนี้ จะดีกว่าดึงดันต่อไป จนโดยยึดรถ เพราะเมื่อโดนยึด ทางไฟแนนซ์จะตีราคารถต่ำมากกว่าเราไปขายเอง นอกจากจะโดนยึดรถแล้ว เรายังต้องจ่ายเงินอีกก้อนให้ไฟแนนซ์อีกด้วย
หากผ่อนบ้านไม่ไหว ให้รีบเข้าไปเจรจาขอลดยอดผ่อนชำระชั่วคราว อย่าขาดชำระเด็ดขาด เพราะหากผิดนัดชำระค่างวดผ่อนบ้าน จะโดนปรับอัตราดอกเบี้ยจากในสัญญาเช่น 4% เป็น 15% ต่อปีเลยทีเดียว
 
หนี้บัตรเครดิต หากผิดนัดชำระ ดอกเบี้ยจะปรับขึ้นมาในอัตราพิเศษ และหากเกิดปัญหาเรื้อรัง หนี้สินรายการนี้ อาจจะลามไปถึงการถูกยึดบ้านที่อยู่อาศัยได้ เคยมีกรณีแบบนี้มาแล้ว หนี้บัตรเครดิต ไม่ใช้เรื่องเล็กๆอีกต่อไป ทางที่ดี ต้องเข้าไปเจรจาผ่อนผันจะดีกว่า
 
หากไม่สามารถเจรจากับสถาบันการเงินได้ มีหน่วยงานรัฐที่ให้ความช่วยเหลือเป็นตัวกลางอยู่ คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้จัดตั้ง คลีนิคแก้หนี้ขึ้นเพื่อช่วยเหลือประชาชน
 
เทคนิคการจัดการหนี้คือ ปิดหนี้ก้อนเล็กก่อน ค่อยๆปิดไปทีละก้อน เพื่อสร้างกำลังใจให้กับตัวเอง และพยายามปิดหนี้ดอกเบี้ยสูงก่อน อย่างไรก็ตาม ต้องคำนวณออกมาให้ชัดเจนว่า เรามีความสามารถชำระหนี้อยู่เดือนละเท่าไหร่ และจัดการให้มียอดชำระ ไม่เกินความสามารถในการชำระหนี้ เช่น ขอลดยอดชำระ หรือ ขายสินทรัพย์ออกไป
 
อย่ากังวลกับหนี้สินมากเกินไป คำว่า วิกฤต คือ สิ่งที่เกิดขึ้นชั่วคราว อย่างไรก็ตา เราต้องรักษาโอกาสต่างๆในชีวิตที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไว้ด้วย
 
 
4. ตรวจสอบแหล่งรายได้ของคุณ
 
อย่ามั่นใจกับรายได้ทางเดียวมากเกินไป คนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในสายอาชีพของตัวเอง มักจะทุ่มเทเวลาทั้งหมดไปกับงานที่ทำอยู่อาชีพเดียว และ มีแหล่งรายได้ทางเดียว ซึ่งอันตรายมาก อะไรก็เกิดขึ้นได้ เปลี่ยนแปลงได้
 
การเพิ่มแหล่งรายได้ คือ การเพิ่ม skill ที่เรามีให้มีหลากหลายมากขึ้น หลายคนมุ่งทำงานตามสาขาที่เรียนจบมหาวิทยาลัยมา แต่ลืมไปว่า ยังมีความสามารถอีกหลายด้านที่ตัวเองเคยถนัด ตอนเรียนมัธยม และหยุดพัฒนา หยุดโฟกัสกับเรื่องนั้นไป
 
คุณอาจจะเป็นคนเก่งคณิตศาสตร์ จนสามารถสอบเข้าคณะวิศวะได้ และทำงานในสายอาชีพวิศวกร แต่คุณเป็นคนชอบถ่ายรูป มีมุมมองการถ่ายรูปที่สวย แต่คุณไม่ได้จับกล้องอีกเลย เมื่อเข้าสู่วัยทำงาน คุณอาจจะกลับไปเรียนเพิ่มเติม และรับงานเป็นช่างภาพ freelance ได้ หรือ ส่งรูปไปขายบนเวปไซค์ให้คน download สร้างรายได้ก็ได้ นี่เป็นเพียงตัวอย่าง มีอีกหลายงานอดิเรก หรือ ความสนใจของเรา ที่สามารถทำได้เป็นงานเสริม หากเราตั้งใจสร้างให้มันเป็นอีกงานหนึ่งของเรา
 
ลองสำรวจดูว่าคุณมีรายได้จากใคร จากกี่แหล่ง จากกี่ skill งาน จากกี่ภาคธุรกิจ อย่างน้อยต้องมีมากกว่า 1 เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงของการขาดรายได้ หากเกิดภาวะวิกฤต
 
5. รู้จักใช้ชีวิตแบบต่ำกว่ามาตรฐานรายได้
 
เราทำงานเหนื่อยเพื่อหาเงิน เราก็อยากใช้เงิน เวลาใช้เงินเราก็จะตอบตัวเองว่า เราหาเงินได้เท่านี้ ชีวิตแบบนี้เราสามารถใช้ได้ มันเหมาะสมดีแล้ว นี่เรียกว่า มาตรฐานการใช้ชีวิตของเรา
 
แต่ถ้าเราปรับอีกหน่อย ใช้ชีวิตต่ำกว่ามาตรฐานรายได้ได้ เราจะมีเงินเก็บมากกว่าคนระดับรายได้เดียวกับเรา และเราจะมีโอกาสนำเงินไปลงทุนที่มากกว่า นำไปสู่ การเกษียณเร็วได้ง่ายกว่า ไม่ต้องทนทำงานที่ไม่ชอบ ไปจนถึงวัยเกษียณ แต่มีอิสระในการใช้ชีวิต ทำงานที่ชอบได้
 
การใช้ชีวิตต่ำกว่ามาตรฐานรายได้ มีผลถึงหากจังหวะไหนในชีวิต เจอกับภาวะวิกฤต รายได้ลดลง เราก็จะไม่เดือดร้อนเช่นกัน เพราะเราใช้ชีวิตตามเกณฑ์รายได้ต่ำกว่ารายได้จริงมาอยู่ก่อนแล้ว
 
 
6. เรียนรู้สินทรัพย์ลงทุนต่างๆ เพื่อลงทุนให้เงินงอกเงย
 
ก็จะเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยให้เงินเติบโตเร็ว เมื่อเกิดภาวะวิกฤต ก็จะหลุดพ้นจากปัญหาได้เร็ว เพราะเรามีความมั่งคั่งสำรองมาเป็นทุนเดิมแล้ว
 
7. วางแผนชีวิตระยะยาว คือ วางแผนเกษียณ
 
คนเราทุกคนต้องแก่ ชีวิตวันหนึ่งต้องเกษียณ คือ ไม่มีรายได้ แต่ยังมีรายจ่ายอีกไม่รู้กี่ปี
 
เราจะทำงานอีกกี่ปี จนเกษียณเรารู้
เรามีเวลาเก็บเงินอีกเท่าไหร่ เรารู้
เราคาดว่าจะใช้เงินในวัยเกษียณเดือนละเท่าไหร่ เรารู้
แต่เราไม่รู้ว่าเราจะมีชีวิตในวัยเกษียณอีกกี่ปี
 
หากเตรียมเงินไว้ไม่พอสำหรับการอายุยืน หรือความเจ็บป่วยในวัยเกษียณ ถึงตอนนั้นเรียกว่า วิกฤตแน่ และ เป็นวิกฤตระยะยาวตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ของเราด้วย เพราะเรากลับมาแก้ไข กลับมาทำงานหาเงินใหม่ ไม่ได้อีก
 
สุดท้ายนี้ ความสบายใจทางการเงิน คือ มีใช้ในเวลาที่ต้องการใช้ ถ้าเตรียมเงินไว้พอ ไม่มีความเครียด ชีวิตทุกด้านก็จะมีความสุขไปด้วย ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ
 
สำคัญที่วันนี้ วันที่เรามีรายได้ เราจัดการกับเงินของเราอย่างไร เรารู้เป้าหมายทางการเงินของตัวเองไหม มีการวางแผนที่รัดกุมไหม มีความรู้เพียงพอหรือเปล่า และ มีวินัยที่จะใช้ชีวิตตามแผนที่วางไว้ไหม ทุกคำตอบล้วนอยู่ที่ตัวคุณเอง

  • ปิรามิดทางการเงิน (Financial Planing Pyramid) ช่วยให้เราเรียงลำดับความสำคัญของแผนการเงินได้อย่างถูกต้อง เพราะแผนการเงินที่มั่นคงไม่ใช่เพียงแค่ความมั่งคั่ง แต่ต้องมั่นคง ปลอดภัย มีป...

  • 23 ทรัพย์สินที่ควรครอบครองเพื่อสร้างอิสรภาพทางการเงิน 23 Assets To Own for Financial Freedom คุณจะมีอิสรภาพทางการเงินได้ ก็ต่อเมื่อคุณมีกระแสเงินสดเป็นรายได้ที่แน่นอนจากทรัพย์สิน...

  • มนุษย์เงินเดือนถึงแม้จะมีเพดานรายได้ที่จำกัด ไม่ได้มีโอกาสร่ำรวยแบบก้าวกระโดดเหมือนเจ้าของกิจการ เพราะต้องอาศัยเวลาและประสบการณ์ ค่อยๆไต่ระดับการเพิ่มขึ้นของรายได้ แต่มนุษย์เงิน...

  • 3 เทคนิคผ่อนบ้านให้หมดไว ทำได้ง่ายๆ เพียงแค่มีวินัยทางการเงิน "บ้าน" เป็นทรัพย์สินชิ้นใหญ่ที่สุดในชีวิตของคนหลายๆคน และเป็นหนี้สินระยะยาวซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาตลอดชีวิตของการทำงานผ่อ...

  • วันนี้ขอนำเรื่องสินสมรสและสินส่วนตัว มาพูดคุยกันในภาษาชาวบ้าน ฉบับฟังกันง่ายๆนะคะ เพื่อทำความเข้าใจในประเด็นสำคัญที่ควรทราบ ให้กับทุกท่านประกอบการวางแผนการเงินส่วนบุคคลค่ะ เนื...

  • ติดตามข่าวของคุณไมค์ พิรัชต์ และ คุณซาร่า คาซิงกินี แล้วรู้สึกเห็นใจผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และภาวนาให้สามารถตกลงกันได้ด้วยดี ไม่ส่งผลเสียต่อน้องแม็กซ์เวลล์ ในระยะยาว ผู้เขียนเล...

  • ประกันสังคมจะมีรูปแบบการประกันตนทั้งหมด3 ประเภทด้วยกัน โดยแบ่งออกเป็น 3 มาตรา คือ มาตรา 33 - พนักงานบริษัทเอกชน (มีนายจ้าง) มาตรา 39 - อดีต ม.33 ที่สมัคร ม.39 ภายใน 6 เดือน (ทำงาน...

  • หากต้องออกจากงาน ทำอย่างไรกับประกันสังคม เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงจากโรคระบาด covid-19 และ ปัญหา disruption ต่างๆ ทำให้ บางกิจการต้องปิดตัวลง อาชีพและตำแหน่งงานบางอย่างต้อ...

  • การจัดการค่าใช้จ่าย เป็นขั้นแรกของการสร้างเงินออม ก่อนจะสร้างความมั่งคั่ง คุณต้องหาเงินมาออมให้ได้ก่อน การจัดการรายรับ รายจ่าย เป็นเรื่องแรกที่ทุกควรควรลงมือทำ เพื่อให้มีเงินเหลือไ...

  • รู้หรือไม่ว่าการรับมรดกของคู่สมรส ไม่ใช่ครึ่งหนึ่งของมรดก แต่อาจจะมากกว่านั้น วันนี้เรามาดูวิธีการแบ่งมรดกของคู่สมรสกันค่ะ เริ่มจาก "คู่สมรส" ที่มีสิทธิ์ได้รับมรดก ต้องเป็นคู่...

  • คุณเคยจินตนาการถึงทายาท "ลำดับถัดไป" ไว้ไกลแค่ไหน เมื่อไม่มีพินัยกรรม จะแน่ใจได้อย่างไรว่าทรัพย์สินของเราที่หามาด้วยความเหนื่อยยาก จะตกทอดไปสู่ทายาทที่เราคิดไว้ คนที่เราคิดไว้ เ...

  • Cr.ภาพ Pixabay Asset 3 อย่างที่ต้องมีหากเราอายุยืนถึง 100 ปี อีก 10 ปีข้างหน้ามีความเป็นไปได้ว่า อายุขัยของประชากร จะมีค่าเฉลี่ยถึง 100 ปี สิ่งที่มีผลกระทบมากที่สุด คือ กา...

  • ทำความรู้จักกับ HENRYs High Earner Not Rich Yet คนรายได้สูงที่ยังไม่รู้สึกว่าตัวเองรวย

  • 6 วิธีตัดค่าใช้จ่ายของคุณ เพื่อให้เงินที่คุณหามาด้วยความเหนื่อยยาก ใช้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น ถ้าหากคุณดูบัญชีเงินเก็บ แล้วมันไม่งอกเงยไปถึงไหน คุณรู้สึกผิดกับตัวเองที่ไม่สามารถเก็บเ...

วางแผนประกันชีวิต

Visitors: 48,653