14 Key Signs ที่ไม่ควรมองข้ามในการเตรียมเงินเกษียณ

กลัวว่าเงินเกษียณจะไม่พอหรือเปล่า ??
 
ไม่มีใครอยากจะพบกับฝันร้ายในวัยเกษียณ เมื่อค้นพบว่าเงินที่เตรียมไว้น้อยเกินไป ไม่เพียงพอกับการดำรงชีวิตอย่างสุขสบาย หรือหมดลงอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ หลังจากเกษียณเพียงไม่กี่ปี
 
มาตรวจสอบ 14 Key Signs ที่ทำให้เงินเกษียณของคุณไม่พอกันเถอะ
 
 
-----
 
1. หากคุณตกเป็นผู้ป่วยติดเตียง หรือ ตกอยู่ในภาวะพึ่งพิง
 
ค่าใช้จ่ายประจำวันของคุณจะต้องเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า ทั้งค่าคนดูแล ค่าวัสดุสิ้นเปลืองต่างๆ ที่ใช้ เช่น ค่าแพมเพิร์ส ค่าเครื่องตรวจวัด และ อุปกรณ์กายภาพต่างๆ
 
ในสหรัฐอเมริกา มากกว่า 50% ของอายุ 65 ปีขึ้นไป ต้องการการดูแลแบบ long-term care และ 1 ใน 7 ของผู้ที่อยู่ในภาวะนี้ ใช้ชีวิตแบบนี้ยาวนานมากกว่า 5 ปี แผนในการจัดการความเสี่ยงนี้ของคนที่นั่น มีทั้ง การซื้อประกันที่มีคุ้มครอง long-term care การใช้ประกันบำนาญเป็นรายได้ประจำ สำหรับค่าใช้จ่ายในสภาวะที่ผู้สูงวัยจัดการอะไรเองไม่ได้ หรือ ใช้ที่ปรึกษาทางการเงินวางแผนการลงทุนในสินทรัพย์ที่ในระยะยาว จะสร้างกระแสเงินสด เป็นรายได้ประจำเลี้ยงตัวได้
 
สำหรับประเทศไทย ยังไม่มีแผนประกันแบบ long-term care ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่พอจะใช้ได้ คือ ประกันบำนาญที่สร้างรายได้ประจำได้ , ประกันโรคร้ายแรงซึ่งจะจ่ายสินไหมออกมาเป็นวงเงิน หรือวางแผนการลงทุนในสินทรัพย์ที่สร้างรายได้ประจำให้ได้ โดยมีความเสี่ยงและความผันผวนต่ำ
 
ตัวอย่างค่าใช้จ่ายรายเดือนของบ้านพักแบบ Home care มีคนดูแล ตอนนี้โดยเฉลี่ยเดือนละ 25,000 บาท คุณจะเตรียมเงินส่วนนี้อย่างไร
 
-----
 
2. คุณคาดการณ์อายุขัยของตัวเองต่ำเกินไป หรือ คุณอายุยืนกว่าที่คิดนั่นเอง
 
มีสถิติบอกว่า 1 ใน 4 ของคนอายุ 65 ปี ในวันนี้จะมีอายุยืนถึง 90 ปี
สิ่งที่ต้องพิจารณาประกอบค่าสถิติคือ ปัจจัยของครอบครัวเรา มีแนวโน้มอายุยืนไหม หากมีโอกาสที่จะอายุยืน คุณต้องเผื่อเครื่องมือทางการเงินที่สร้างรายได้ให้คุณยาวนาน
 
เช่น เงินบำนาญชราภาพจากประกันสังคมที่จ่ายไปตลอดชีวิต, ประกันบำนาญที่จ่ายถึงอายุ 90 ปี หรือ 100 ปี, พอร์ตการลงทุนที่ถอนเงินออกมาใช้ไม่เกิน 4% ของมูลค่าสินทรัพย์
 
หรือ จัดสรรการลงทุนแบบมีวัตถุประสงค์การลงทุนว่าจะเริ่มถอนใช้หลังอายุ 80 ปี ก็จะมีเวลาลงทุนยาวนาน สามารถลงทุนแบบมีความผันผวนสูง รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นได้ เป็นต้น
 
-----
 
3. เงินก้อนใหญ่ที่ต้องจ่ายจากการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง
 
สุขภาพของคนวัยเกษียณต้องมีความเสื่อมถอยเป็นธรรมดา โรคประจำตัวต่างๆ อาจมาจากทางพฤติกรรมในวัยทำงาน หรือ กรรมพันธุ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ค่ายา ค่ารักษาพยาบาลต่างๆ อาจจะใช้การพึ่งพาบัตรทอง หรือ เงินที่เตรียมไว้เป็นค่าใช้จ่ายประจำ ก็เป็นความเสี่ยงที่พอรับเองได้
 
แต่หากเกิดการเจ็บป่วยแบบรุนแรง หรือ ต้องรักษาต่อเนื่องยาวนาน ก็จะเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่กระทบเงินเกษียณ
การโอนย้ายความเสี่ยงไปให้บริษัทประกันช่วยบรรเทาเรื่องนี้ได้ เช่นการทำประกันคุ้มครองโรคร้ายแรง ซึ่งปัจจุบันครอบคลุมถึงการตรวจพบโรคร้ายแรงขั้นต้น ตามวิวัฒนาการของเครื่องมือแพทย์สมัยใหม่ สามารถเคลมได้ โดยยังไม่ต้องถึงการเป็นขั้นลุกลาม
 
หรือหากคุณเป็นคนที่มีความเสี่ยงเรื่องการเป็นโรคมะเร็ง ผลิตภัณฑ์ประกันรุ่นใหม่ สามารถซื้อคุ้มครองเฉพาะการรักษามะเร็งแบบต่างๆได้ด้วย ในเบี้ยประกันที่ถูกลง โดยไม่ต้องซื้อคุ้มครองทุกโรค
 
สำคัญที่การสมัครทำประกันต้องสมัครตั้งแต่ยังอยู่ในขณะที่สุขภาพแข็งแรง ซึ่งเมื่ออยู่ในช่วงที่สุขภาพแข็งแรง คนเราก็มักจะผัดผ่อนการทำประกันไว้ก่อน เพราะเสียดายเบี้ยประกัน จึงไม่ได้ซื้อสักที
 
-----
 
4. คุณไม่นำเงินเฟ้อมาคำนวณในแผน
 
เมื่ออยู่ในวัยทำงาน ผลกระทบจากเงินเฟ้อทำให้ของแพงขึ้นตามเวลา คุณอาจจะไม่รู้สึกมาก เพราะรายได้ของคุณก็ปรับเพิ่มขึ้นตามเวลาเช่นกัน
 
แต่เมื่อถึงวัยเกษียณคุณไม่มีรายได้ใหม่มาเพิ่ม โอกาสที่คุณจะลงทุนหาผลตอบแทนให้ชนะเงินเฟ้อ คุณก็ต้องรับความเสี่ยงของการลงทุนด้วย
 
ถ้าหากคุณใช้จ่ายเท่าเดิมทุกปี ผลของเงินเฟ้อจะทำให้คุณต้องถอนเงินออกมาเพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้น การคาดการณ์จำนวนเงินในกองทุนเกษียณ ต้องนำเงินเฟ้อมาคำนวณในแผนด้วย เพื่อป้องกันการเตรียมเงินที่น้อยเกินไป
 
-----
 
5. คุณไม่ได้เตรียมค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ (Big-Ticket Items) นอกจากค่าใช้จ่ายพื้นฐานไว้เลย
 
ความเป็นไปได้ของค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ของคุณในช่วงวัยเกษียณ ตัวอย่างเช่น ค่าซ่อมปรับปรุงที่อยู่อาศัย ค่าซ่อมหรือซื้อรถยนต์คันใหม่ คุณต้องเผื่อเงินก้อนเหล่านี้ไว้ด้วย อาจจะไม่ใช่ค่าใช้จ่ายประจำที่ต้องจ่ายทุกเดือน แต่วันใดวันหนึ่ง ก็ต้องจ่าย คุณจะเตรียมและบริหารเงินก้อนนี้อย่างไร
 
-----
 
6. พฤติกรรมการใช้จ่ายหลังเกษียณของคุณเปลี่ยนไป
 
ทุกวันนี้วันธรรมดาหรือวันหยุด เสาร์ อาทิตย์
วันไหน คุณใช้เงินมากกว่ากัน ??
 
วันธรรมดาคุณยุ่งวุ่นวายอยู่กับการทำงาน ค่าอาหารเพียงเล็กน้อย ทำงานเสร็จกลับบ้าน ไม่ได้จับจ่ายใช้สอยอะไรมากนัก แต่วันหยุด คุณออกไปทานอาหารมื้อพิเศษนอกบ้าน นัดเพื่อนพบปะ สังสรรค์ ทำกิจกรรมต่างๆ ช้อปปิ้งข้าวของอย่างเพลิดเพลิน
 
แล้วถ้าวัยเกษียณ ทุกวันเป็นวันหยุดหล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น??
 
-----
 
7. ให้ลูกยืมเงิน
 
เป็นเรื่องที่ปฏิเสธยาก และน่าลำบากใจเป็นอย่างยิ่ง ในการต้องนำเงินก้อนเกษียณออกมาให้ลูกยืม เพื่อนำไปใช้ในเรื่องที่เราก็รู้ว่าจำเป็น เช่น เรียนปริญญาโท หรือ ตั้งต้นทำธุรกิจ และหวังว่าลูกจะทยอยนำเงินมาใช้คืน
 
การทำแบบนี้ไม่ต่างอะไรกับการไม่เตรียมเงินเกษียณและหวังพึ่งการเลี้ยงดูจากลูกหลาน
คุณจะมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้เงินกลับคืน และอยู่ในภาวะพึ่งพิงตลอดไป
 
หากผิดพลาดไม่ได้เงินก้อนนี้กลับคืนมา ปัญหาไม่ได้อยู่แค่เพียงตัวคุณ แต่ลูกก็จะกระทบไปด้วยเช่นกัน เพราะเขาจะตกอยู่ในภาวะ Sanwich Generation ที่ต้องดูแลทั้งพ่อแม่ และลูกของตัวเอง
 
-----
 
8. สปอยล์หลาน
 
"รักหลานมากกว่าลูก" เป็นภาวะที่คนสูงวัยเป็นไปโดยไม่รู้ตัว อาจเป็นเพราะยีนส์เด่นของตัวเองไปปรากฎในรุ่นหลาน เห็นหลานแล้วเหมือนเห็นตัวเอง หรือเป็นเพราะมีเวลามากพอที่จะดูแลเขาอย่างใกล้ชิด เห็นเขาเติบโต ไม่เหมือนวัยทำงานที่ต้องหาเงินด้วย เลี้ยงลูกไปด้วย
 
ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม คุณต้องระมัดระวังแยกสัดส่วนค่าใช้จ่ายของตัวเองให้ชัด ว่าจะสามารถใช้จ่ายกับการดูแลหลานได้แค่ไหน
 
หลายท่านช่วยเหลือ หยิบยื่นค่าเล่าเรียน ค่าเรียนพิเศษ ของขวัญที่หลานอยากได้ รวมถึงค่าเดินทางไปเยี่ยมเยียนหลานบ่อยๆ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นความสุขทางใจ แต่ก็ต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวังเช่นกัน
 
 
-----
 
9. ภาษี ที่หักออกจากเงินได้วัยเกษียณของคุณ
 
กองทุนรวมที่เลือกใช้ลงทุนเพื่อวันเกษียณควรเป็นแบบไม่มีเงินปันผล เพราะการรับปันผลต้องเสียภาษี กลายเป็นค่าใช้จ่ายทำให้ได้รับผลตอบแทนลดลง และเสียโอกาสในการนำเงินกลับไปลงทุนต่อเพื่อสร้างความมั่งคั่งอีก
 
เงินปันผล จากกองทุนรวม หุ้น , ดอกเบี้ยจากตราสารหนี้ และ เงินฝากธนาคาร จะต้องถูกหัก ภาษี ณ.ที่จ่าย ดังนั้น เงินได้ที่คาดการณ์สำหรับใช้จ่ายวัยเกษียณ ต้องเป็นเงินที่คำนวณหลังหักภาษีแล้ว
 
เมื่อถึงวัยเกษียณ คุณไม่มีฐานภาษีจากเงินได้ประจำ แล้ว คุณก็สามารถนำภาษีที่ถูกหัก ณ.ที่จ่าย ของเงินปันผลมาเครดิตภาษีคืนได้ จะคุ้มค่ากว่าตอนที่อยู่ในวัยทำงาน เนื่องจากตอนทำงานมีฐานภาษีที่สูงอยู่แล้ว ไม่ควรนำเงินปันผลมาเครดิตภาษี แทนที่จะได้ภาษีคืนอาจจะต้องเสียภาษีเพิ่ม ควรเลือกเป็น Final Tax จะดีกว่า
 
เมื่อถึงอายุ 65 ปี คุณจะได้รับสิทธิ์ยกเว้นเงินได้พึงประเมินเพิ่มจาก 150,000 บาทอีก 190,000 บาท รวมเป็น 340,000 บาท ทำให้มีช่วงการรับรายได้โดยไม่เสียภาษีได้เพิ่มขึ้น
 
เงินก้อนจากการเกษียณ จะได้รับการยกเว้นภาษี หรือ เสียภาษีในอัตราพิเศษ เช่น เงินจากกองทุน RMF, PVD และ เงินชดเชยการออกจากงาน
 
เงินได้วัยเกษียณ ที่ได้รับการยกเว้นภาษี ได้แก่ เบี้ยผู้สูงอายุ, บำนาญชราภาพประกันสังคม เงินบำนาญจากกรมธรรม์ประกันชีวิต
 
-----
 
10. ค่าธรรมเนียม (Fees)
 
ในการเลือกซื้อกองทุนเพื่อใช้เป็นเครื่องมือเก็บเงินวัยเกษียณ นอกจากจะอ่าน Factsheet เพื่อพิจารณานโยบายการลงทุน และผลตอบแทนการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุนแล้ว ใน Factsheet ยังมีบอกเรื่องค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายที่กองทุนเรียกเก็บอีกด้วย ต้องพิจารณาให้ดี เพราะมีผลต่อผลตอบแทนที่ได้รับเช่นกัน
 
ค่าธรรมเนียมที่เก็บจากกองทุนรวมจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับประเภทของกองทุนรวม หากเป็นกองทุนประเภทบริหารไม่ยาก จะเก็บค่าธรรมเนียมต่ำ เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน และกองทุนรวมตราสารหนี้ ส่วนกองทุนรวมประเภทที่บริหารยากขึ้น ก็จะเก็บค่าธรรมเนียมสูงขึ้นตามไปด้วย เช่น กองทุนรวมแบบผสม กองทุนรวมตราสารทุน และกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศก็จะยิ่งเก็บค่าธรรมเนียมสูง
 
ค่าธรรมเนียมแบ่งเป็น 2 ส่วน
 
1.ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากกองทุนรวม
เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการกองทุนรวม และเป็น "ต้นทุนทางอ้อม" ที่แต่ละกองทุนเรียกเก็บจากกองทุนในอัตราที่ไม่เท่ากัน ซึ่งผู้ลงทุน ต้องจ่ายภายหลังจากที่มีการซื้อหน่วยลงทุนแล้ว ไม่ว่าผลของการบริหารจัดการกองทุนรวมนั้นจะขาดทุนหรือมีกำไรก็ตาม
 
"ผลตอบแทนเป็นสิ่งไม่แน่นอน
แต่ค่าใช้จ่ายเป็นสิ่งที่อยู่ตลอดไป"
-John C. Bogle-
 
2. ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้ถือหน่วย
ค่าใช้จ่ายเหล่านี้เกิดขึ้นในตอนที่ผู้ลงทุนส่งคำสั่งเพื่อทำรายการต่างๆ เช่น ค่าธรรมเนียมการขาย (Front-end) ค่าธรรมเนียมการซื้อคืน (Back-end) ค่าธรรมเนียมการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน (Switching-in/out) โดยคิดเป็นอัตราร้อยละของมูลค่าหน่วยลงทุน
 
กองทุนเกษียณเป็นการลงทุนระยะยาว มูลค่าหน่วยลงทุนจะเติบโตไปเรื่อยๆตามเวลา จึงควรคำนึงถึง ค่าธรรมเนียมการซื้อคืน (Back-end) มากกว่า ค่าธรรมเนียมการขาย (Front-end)
 
เงินลงทุนในกองทุนเพื่อการเกษียณ ควรเลือกกองทุนแบบ passive ซึ่งมีค่าธรรมเนียมต่ำ เช่น กองทุน SET50 หรือ ในต่างประเทศ กองทุน S&P500 เพราะมีระยะเวลานานพอที่จะรับความผันผวน โดยไม่ต้องใช้การบริหารจัดการ ก็จะทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น
 
"ค่าธรรมเนียมที่ต่างกันเพียง 1% ของกองทุน อาจส่งผลให้ผลตอบแทนได้รับลดลงไปถึง 40% ในระยะเวลาภายใน 50 ปี"
-คุณเผ่า ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์-
CEO บลจ. จิตตะ เวลธ์ จำกัด
 
-----
 
11. การหย่าร้าง
 
บางคู่ในช่วงทำงานใช้ชีวิตไปกับการทำงานเป็นส่วนใหญ่ ได้ใช้ชีวิตร่วมกันเป็นส่วนน้อย ชีวิตสมรสก็ผ่านมาอย่างราบรื่นดี แต่พอมาถึงช่วงวัยเกษียณได้มีเวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้น กิจกรรมนอกบ้านน้อยลง อยู่ในวัยที่มีความอ่อนไหวทางอารมณ์มากขึ้น ก็อาจจะมีเรื่องไม่ถูกใจกัน ขัดแย้งกันไปจนถึงขั้นหย่าร้างได้
 
เมื่อเกิดการหย่าร้าง แน่นอนต้องกระทบกับการแบ่งทรัพย์สิน หรือ มีฝ่ายที่ต้องพึ่งพารายได้ได้รับผลกระทบ
ความเสี่ยงเรื่องนี้ ควรนำมาพิจารณาเผื่อไว้ในการวางแผนด้วย
 
-----
 
12. เกิดหนี้ก้อนใหม่ในวัยเกษียณ
 
ถึงแม้คุณจะพยายามเคลียร์หนี้ทุกก้อนให้หมดก่อนวัยเกษียณ ก็อาจจะมีโอกาสผิดพลาดสร้างหนี้ก้อนใหม่ขึ้นมาได้
สาเหตุเนื่องจากการคาดการณ์กระแสเงินสดที่เป็นรายรับในวัยเกษียณ ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายจริงที่เกิดขึ้น ทำให้อาจก่อหนี้ขึ้นมาได้
 
เมื่อเกิดการเป็นหนี้ คุณจะมีดอกเบี้ย เป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกรายการ และไปลดทอนเงินเกษียณให้หมดเร็วยิ่งขึ้น
ดังนั้นต้องวางแผนการจัดการกระแสเงินสดและสภาพคล่องในวัยเกษียณไว้ให้ดี
 
-----
 
13. ถอนเงินออกใช้ต่อปี เกินกว่าจำนวนที่ควรจะถอนได้
 
ตามกฎ 4% rule of thumb ของ Prof. William P. Bengen กล่าวไว้ว่า เมื่อนำเงินลงทุนในวัยเกษียณไปจัดพอร์ตไว้ในหุ้น 50% พันธบัตร 50% และถอนเงินออกมาใช้ไม่เกิน 4% ต่อปี คุณจะมีเงินให้ถอนใช้ยาวนานมากกว่า 30 ปี
 
แต่ในการวิจัยต่อๆมาพบว่า การถอนเงินออกจากกองทุนเกษียณนอกจากไม่ควรเกิน 4% แล้ว ยังต้องดูมูลค่าคงเหลือของกองทุนและสถานการณ์ผลตอบแทนการลงทุนในปีนั้นๆด้วย ในปีที่ผลตอบแทนการลงทุนตกต่ำ ควรหลีกเลี่ยงการถอนเงินจากกองทุน และหันไปใช้เงินสำรองก้อนอื่นแทน เพื่อหลีกเลี่ยง Sequence of Returns Risk
 
งานวิจัยของ Morningstar แนะนำว่า safe withdrawal rate ที่เหมาะสม คือ 2.8% อย่างไรก็ตามด้วยรูปแบบความจำเป็นในการใช้ชีวิตของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน การขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาทางการเงินจะช่วยในการวางแผนที่ปลอดภัยขึ้น
 
-----
 
14. ตระหนักในความผันผวนของการลงทุนในแต่ละปี
 
ถึงแม้จะมีแผนการใช้จ่ายที่แน่ชัด และคาดการณ์ว่าแต่ละปีต้องการถอนใช้ปีละเท่าไหร่ แต่เมื่อประเมินสถานการณ์การลงทุนในแต่ละปี ก็ควรวางแผนถอนเงินมากขึ้นในปีที่ตลาดขาขึ้น เพื่อย้ายมาไว้ในที่ไม่มีความเสี่ยงเช่น ฝากธนาคาร นำมาสำรองไว้ใช้ในปีที่ต้องถอนเงินน้อยลงในตลาดขาลง
 
การรับคำปรึกษาอย่างน้อยปีละครั้งจาก financial advisor เพื่อตรวจสอบสถานการณ์ปัจจุบันของคุณและสถานการณ์ของตลาด จะช่วยให้คุณปรับกลยุทธ์ในการถอนเงินให้อยู่ในแนวทางที่ถูกต้องและปลอดภัยเสมอ
 
-----
 
14 Key Signs นี้ จะช่วยให้คุณสำรวจ และ ประเมินแผนการเงินเพื่อการเกษียณของคุณ ได้อย่างใกล้เคียงความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น
 
หากวางแผนอย่างรอบคอบเสียแต่วันนี้ ตั้งเป้าหมายกองทุนเกษียณในจำนวนที่มากพอ คุณจะรู้ว่าคุณยังขาดเงินอีกเท่าไหร่
คุณยังสามารถกลับตัวทัน เพราะคุณยังอยู่ในวัยทำงาน คุณจะขยันขึ้น ใช้จ่ายเงินอย่างมีเหตุผลมากยิ่งขึ้น และพยายามหาช่องทางให้เงินสร้างผลตอบแทนเพิ่ม หรือ ยืดเวลาเกษียณออกไปอีก รวมถึงหากปรับ lifestyle วัยเกษียณให้พอเพียงกับกำลังเงินที่คุณมีได้ คุณก็จะสามารถใช้ชีวิตในบั้นปลายได้อย่างมีความสุข
 
พิชญาภัฐฐ์ ทองศรีเกตุ
ที่ปรึกษาทางการเงิน AFPT
 
-----
เสริฟความรู้ทางการเงินให้คุณในทุกวัน
-----
▪︎ Reference ▪︎
เพิ่มเพื่อน

  • การวางแผนเกษียณ คือ การวางแผนการใช้ชีวิตและการเตรียมเงินเพื่อใช้หลังเกษียณ โดยรูปแบบการใช้ชีวิตที่เลือก จะเป็นตัวกำหนด 1.มูลค่ากองทุนเกษียณที่ต้องเตรียม 2.รูปแบบทรัพย์สินที่จะ...

  • รู้หรือไม่ว่า เรามีระยะเวลาทำงานหาเงินน้อยกว่าเวลาที่เราต้องใช้เงินมากถึง 2-3 เท่า เรามีช่วงเวลาหาเงินได้ประมาณ 35-45 ปีแต่เราจะต้องใช้เงินนั้นยาวไปถึง 80 ปีเลยทีเดียว ส่วนเ...

  • ยิ่งคุณรู้จักจัดการค่าใช้จ่ายให้เหลือออมได้มากเท่าไหร่ บวกกับรู้จักวิธีลงทุนให้เงินงอกเงยในความเสี่ยงที่เหมาะสม คุณก็เข้าใกล้การเกษียณเร็ว (FIRE movement) ได้มากขึ้นเท่านั้น อ...

  • 5 ประเภทของ Financial Independence คุณอยากมีชีวิตเกษียณแบบไหน ตามแนวคิดของการเกษียณเร็วแบบ FIRE Movement (Financial Independence Retire Early) ที่พูดถึงการเตรียมเงินก้อนใหญ่ เพ...

  • 4 วิธีการหาค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ Retirement Spending วิธีที่นิยมใช้ ในการคาดการณ์กองทุนเกษียณ คือ คำนวณหาค่าใช้จ่ายในปีแรกของการเกษียณ มาให้ได้ก่อน แล้วสมมติว่าทุกปีเราจะใช้เงินคง...

  • เครื่องมือทางการเงิน ที่นิยมใช้เป็นแผนเกษียณ มีได้หลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีให้ประโยชน์และข้อควรระวังที่แตกต่างกัน จึงขอยกตัวอย่างวิธีเตรียมเงินวัยเกษียณที่เป็นที่นิยมดังนี้ 1. ออมผ่าน...

  • วิธีคำนวณกองทุนเกษียณแบบ Fix Amount Inflation Adjusted การคำนวณกองทุนเกษียณโดยเอาจำนวนเงินที่ต้องการใช้แต่ละปี คูณกับจำนวนปีที่เราคาดว่าจะมีชีวิตอยู่ เป็นวิธีที่ทำให้เราคำนวณเงินออ...

  • Sequence of Returns Risk (SOR)หนึ่งในความเสี่ยงที่ทำให้เงินเก็บวัยเกษียณหมดเร็วขึ้น Sequence of Returns Risk คือ ความเสี่ยงที่มาพร้อมกับการถอนเงินออกจากกองทุนที่เราลงทุนในเครื่องมื...

  • ปัจจุบันคนวัยเกษียณยังพึ่งพารายได้จากลูกหลานเป็นหลัก รองลงมาคือ บางส่วนยังต้องทำงานหารายได้ต่อ มีเป็นส่วนน้อยที่จะสามารถดำรงชีวิตได้ด้วยเงินออมของตนเองที่ออมไว้ตั้งแต่วัยทำงาน แต่เ...

  • วางแผนเกษียณพร้อมลดหย่อนภาษี เลือกใช้ RMF หรือ ประกันบำนาญดี?? คำถามที่หลายคนกำลังคิดเปรียบเทียบกันอยู่ในเวลานี้ หากต้องการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีเพิ่มแล้วอยากวางแผนเกษียณไปด้วย...

  • แบ่งความเสี่ยงออกเป็น 6 กลุ่ม - OUTLIVING RESOURCES - 1. Longivity Risk คาดการ์ณอายุหลังเกษียณไว้น้อยเกินไป การมีชีวิตอยู่ยาวนาน จะรับทุกความเสี่ยงได้เพิ่มขึ้นได้อีกหลายเท่า ...

  • 10 ข้อผิดพลาดทางการเงินที่ทำลายเป้าหมายเกษียณก่อนวัยของคุณ การไปถึงเป้าหมายของการเกษียณได้อย่างรวดเร็ว มีเงินทำงานให้เรา ได้มีอิสรภาพในการใช้ชีวิตที่ชอบ ไม่ใช่แค่เพียงเลือกลงทุน...

  • เตรียมเงินให้ลูกเรียนหนังสือ ก็อย่าลืมเตรียมเงินเกษียณให้กับตัวเราเองในวันที่ไม่มีรายได้ด้วย พ่อแม่ทุกคนรักลูก ปรารถนาให้ลูกได้รับในสิ่งดีที่สุด การให้การศึกษาที่ดีเป็นการให้สิน...

  • เราทุกคนรู้ว่าต้องเก็บเงินไว้ใช้ในยามแก่ชรา ให้มากเพียงพอกับอายุที่มีโอกาสจะอยู่ได้ยาวนานขึ้น จนถึงอายุ 90 ปี เมื่อคิดเป็นจำนวนเงินที่คาดว่าใช้ให้เพียงพอแล้ว มันมากมายมหาศาล จนแทบอ...

  • ถ้าคุณคือคนอายุ 40-50 ปี คุณคือผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสังคมผู้สูงวัย ตอนนี้ประเทศไทยเป็นประเทศ "แก่ก่อนรวย" ไปแล้ว ในยุคที่เราเข้าถึงข้อมูลความรู้ในการวางแผนทางการเงินได้มา...

  • ถอนเงินเกษียณด้วยวิธี Bucket Strategy ดีกว่าจริงหรือ

วางแผนการเงิน

Visitors: 45,494