วางแผนประกันชีวิต

กรมธรรม์ประกันชีวิต เป็นเครื่องมือทางเงินหนึ่งเหมือนกับพินัยกรรมใช้ในการส่งมอบเงินสดให้กับทายาทที่ระบุในรูปแบบของมรดก โดยไม่ต้องจัดสรรตามลำดับของทายาทโดยธรรมเหมือนมรดกทั่วไป 

กรมธรรม์ประกันชีวิต จะแบ่งง่ายๆเป็น 2 วัตถุประสงค์ คือ เน้นคุ้มครอง กับ เน้นออม

  • กรมธรรม์ที่เน้นคุ้มครอง จะให้ความคุ้มครองสูง จ่ายเบี้ยถูก เบี้ยเป็นแบบจ่ายทิ้งไป เรียกว่าแบบชั่วระยะเวลา (Term Life) หรือ รับเงินครบสัญญาตอนอายุ 90 หรือ 99 ปี ที่เรียกกันว่าแบบตลอดชีพ  (Whole Life) ผู้เอาประกันไม่ได้คาดหวังเงินกลับคืนมาให้กับตัวเอง แต่เพื่อเตรียมเงินก้อนสำหรับส่งมอบให้กับคนข้างหลัง โดยไม่ต้องใช้เงินเท่ากับจำนวนทุนประกันนั้นจริงๆ 
  • กรมธรรม์ที่เน้นออม เป็นที่นิยมกันอย่างมากในปัจจุบันเพราะมีผลตอบแทนที่ชัดเจนให้แก่ผู้เอาประกัน จะให้ทั้งความคุ้มครอง และผลตอบแทนระหว่างสัญญาให้กับผู้เอาประกัน รวมถึงมีเงินครบสัญญาตามเวลาที่เลือก เช่น 15 ปี, 20 ปี หรือ รับบำนาญตลอดสัญญากรมธรรม์ แต่จะให้ความคุ้มครองที่ต่ำกว่าแบบตลอดชีพและแบบชั่วระยะเวลา ในจำนวนเบี้ยที่เท่ากัน เนื่องจากเงินส่วนใหญ่ต้องถูกนำไปลงทุนเพื่อหาผลตอบแทน ไม่ได้นำไปซื้อความเสี่ยงเป็นหลัก เหมือนแบบตลอดชีพและชั่วระยะเวลา
 

ดังนั้น หากทำประกันชีวิตโดยมีการวางแผน ควรทราบปัจจัยสำคัญ 2 ประการ ก่อนตัดสินใจซื้อ

  1. ทุนประกันที่ครอบคลุมภาระหนี้สินและมูลค่าความสามารถ
  2. ความสามารถในการชำระเบี้ยประกัน 
  • คนส่วนใหญ่จะเน้นทุนประกันที่คุ้มครองภาระหนี้สินในพวกสินทรัพย์ต่างๆที่มีการผ่อนอยู่ เช่น หนี้ที่อยู่อาศัย หนี้ธุรกิจ เพราะหากเกิดอะไรขึ้น ครอบครัวก็ยังมีบ้านอยู่โดยไม่ต้องผ่อนอีกต่อไป หรือ กิจการก็ยังดำเนินการได้อยู่โดยไม่สะดุด แต่อีกประเด็นหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง คือ ความคุ้มครองที่เหมาะสมกับมูลค่าความสามารถ

ตัวอย่างเช่น เราสามารถหาเงินปีละ 1 ล้านบาท มาดูแลครอบครัว ดูแลพ่อแม่ ส่งลูกเรียนหนังสือ ดูแลคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพวกเขา 

ปีนี้เราอายุ 42 ปี ทำงานได้อีก 18 ปี (สมมติว่าเกษียณอายุ 60 ปี และรายได้ไม่เพิ่มเลย) เท่ากับว่า เราสามารถหาเงินได้อีก 1,000,000 * 18 = 18,000,000 บาท

แต่ถ้าหากเราจากไปกระทันหัน เงิน 18 ล้านบาทนี้ก็จะจากไปกับเราด้วย คำถามคือ คุณควรมีเงินทิ้งไว้ให้พวกเค้าเท่าไหร่ ถ้าคุณไม่ได้อยู่ดูแลพวกเขาอีก

  • ความสามารถในการชำระเบี้ยประกัน คิดเริ่มต้นแบบง่ายที่สุด คือ 10-20% ของรายได้ เพราะจะเป็นเงินส่วนเล็กน้อยที่จัดสรรมาโอนย้ายความเสี่ยง และวางแผนเก็บออมระยะยาวเพื่อเตรียมเงินไว้ใช้ในบั้นปลาย
  • ข้อคิดเห็นพิเศษ คนที่มีรายได้น้อยมาก เมื่อให้หักค่าใช้จ่ายพื้นฐานที่จำเป็นแล้ว อาจจะมีความสามารถในการชำระเบี้ยอยู่ที่ 5% ของรายได้ ในขณะเดียวกัน คนที่มีรายได้สูง หักค่าใช้จ่ายพื้นฐานแล้วมีเงินเหลือ ออมและลงทุนเป็นจำนวนมาก ก็อาจจะแบ่งเงินมาในส่วนของประกันได้สูงถึง 30-40% เลยทีเดียว

 

ถ้าเรียงลำดับความสำคัญของการทำประกันชีวิต ตามแนวคิดของปิรามิดทางการเงินแล้ว กรมธรรม์ฉบับแรกควรครอบคลุมหนี้สินและมูลค่าความสามารถที่เพียงพอก่อน เงินก้อนถัดไปจึงนำไปประกันแบบที่เน้นออมเงิน ซึ่งการจัดสรรการโอนย้ายความเสี่ยงนี้ อยู่ที่ดุลยพินิจของแต่ละบุคคล และยังต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆประกอบอีก เช่น อายุ สถานภาพโสดหรือสมรส ฯลฯ การตัดสินใจโครงการระยะยาวแบบนี้ ควรได้รับคำแนะนำจากที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการวางแผนการเงินประกอบด้วย

ปรึกษาข้อเสนอประกันชีวิตเพื่อจัดทุนประกันที่เหมาะสม

Visitors: 48,650